ความหมาย
พระพุทธศาสนา (Buddhism) คือ ศาสนาที่ถือว่าธรรมะเป็นความจริงสากล
ที่ใครก็ตามหากสิ้นกิเลสก็จะพลได้ด้วยตนเอง แต่ผู้ที่ได้บำเพ็ญบารมีจนตรัสรู้
และสามารถตั้งพุทธบริษัทปัจจุบันขึ้นได้ คือ พระพุทธโคตม
ซึ่งเป็นองค์หนึ่งในบรรดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามากมายที่ได้เคยตั้งพุทธบริษัทมาแล้ว
และที่จะตั้งต่อไปในอนาคต
ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากที่ตรัสรู้แต่ไม่มีบารมีพอให้ตั้งพุทธบริษัทได้
จึงให้ผลเฉพาะตัวเรียกว่า ปัจเจกพุทธเจ้า
จึงเห็นได้ว่า
จากความสำนึกดังกล่าวข้างต้น ทำให้ชาวพุทธมีใจกว้าง
เพราะถือเสียว่าธรรมะมิได้มีในพระพุทธศาสนาของพระโคตมเท่านั้น
แต่คนดีทั้งหลายก็อาจจะพบธรรมะบางข้อได้ และแม้แต่ชาวพุทธเอง
พระพุทธเจ้าก็ทรงปรารถนาให้แสวงหาและเข้าใจธรรมะด้วยตนเอง พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ
พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง คือ
ผู้ช่วยเกื้อกูลให้แต่ละคนสามารถพึ่งตนเองในที่สุด "ตนของตนเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง"
อาจกล่าวได้ว่าพุทธศาสนิกที่แท้จริง คือ
ผู้ที่แสวงหาธรรมะด้วยตนเองและพบธรรมะด้วยตนเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า
พยายามพัฒนาธาตุพุทธะในตัวเอง
ลักษณะคำสอนของพระพุทธศาสนา
ลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา คือ
เป็นศาสนาแห่งการวิเคราะห์ กล่าวคือ
เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ทั้งความเป็นจริงและข้อธรรมได้ดีเยี่ยมเป็นพิเศษ เช่น
วิเคราะห์จิตได้ละเอียดลอออย่างน่าอัศจรรย์ใจ วิเคราะห์ธรรมะออกเป็นข้อ ๆ
อย่างละเอียดสุขุมและประสานสัมพันธ์กันเป็นระบบที่แน่นแฟ้น
หากจะพยายามอธิบายธรรมะข้อใดสักข้อหนึ่ง ก็จะต้องอ้างถึงธรรมะข้ออื่นๆ
เกี่ยวโยงไปทั้งระบบ วิธีการวิเคราะห์ธรรมะอย่างนี้
บางสำนักของศาสนาฮินดูได้เคยทำมาบ้าง
แต่ก็ไม่สามารถทำได้เด่นชัดอย่างธรรมะที่สอนกันในพระพุทธศาสนา
จึงควรยกย่องได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการวิเคราะห์
และเมื่อกล่าวเช่นนี้ก็มิได้หมายความว่าพระพุทธศาสนาไม่สนใจด้านอื่นๆ
ทั้งมิได้หมายความเลยไปถึงว่าศาสนาอื่นๆ ไม่รู้จักวิเคราะห์ หามิได้
ต้องการหมายเพียงแต่ว่าพระพุทธศาสนาเด่นกว่าศาสนาอื่นๆ ในด้านวิเคราะห์เท่านั้น
และถ้าหากศาสนาต่างๆ
จะพึ่งพาอาศัยกันและกันก็พระพุทธศาสนานี่แหละสามารถให้ตัวอย่างในการวิเคราะห์ข้อธรรมะได้อย่างดีเยี่ยม
ในขณะที่ศาสนาอื่นๆ อาจจะบริการด้านอื่นๆ ที่ได้ปฏิบัติมาอย่างเด่นชัด เช่น
ศาสนาพราหมณ์ในเรื่องจารีตพิธีกรรม ศาสนาอิสลามในเรื่องกฎหมาย เป็นต้น
แต่ทั้งนี้แล้วแต่ว่าสมาชิกแต่ละคนของแต่ละศาสนาจะสนใจร่วมมือกันในทางศาสนามากน้อยเพียงใด
บ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
แม้ชาวพุทธจะมีความสำนึกว่า สัมมาสัมพุทธเจ้าได้มีมาแล้วมากมายในอดีต
และจะมีอีกมากมายต่อไปในอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม
คำสอนของอดีตพระพุทธเจ้าไม่เหลือหลักฐานไว้ให้ศึกษาได้อีกแล้ว
ส่วนคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะมาในอนาคตก็ยังไม่มีใครรู้ ดังนั้น
บ่อเกิดของพระพุทธศาสนาในปัจจุบันจึงมาจากคำสอนของพระพุทธโคตมแต่องค์เดียว
คำสอนของนักปราชญ์อื่นๆ ทั้งในและนอกพระพุทธศาสนา
อาจจะเสริมความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้
แต่ไม่อาจจะถือว่าเป็นบ่อเกิดของพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ตาม
พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า
ความรู้ที่พระองค์ทรงรู้จากการตรัสรู้นั้นมีมากราวกับใบไม้ทั้งป่า
แต่ที่พระองค์นำมาสอนสาวกนั้นมีปริมาณเทียบได้กับใบไม้เพียงกำมือเดียว
พระองค์ไม่อาจจะสอนได้มากกว่าที่ได้ทรงสอนไว้ ดังนั้น หากมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น
ให้ตกลงกันด้วยสังคายนา (ร้องร่วมกัน) คือ ประชุมและลงมติร่วมกัน
ส่วนในเรื่องธรรมวินัยปลีกย่อย หากจำเป็นก็ให้ประชุมตกลงปรับปรุงได้ ดังนั้น
บ่อเกิดของพระพุทธศาสนาอีกทางหนึ่งก็คือสังคายนา
สังคายนาจึงกลายเป็นเครื่องมือให้เกิดการยอมรับร่วมกันในหมู่ผู้ยอมรับสังคายนาเดียวกัน
แต่ก็เป็นทางให้เกิดการแตกนิกายโดยไม่ยอมรับสังคายนาร่วมกัน นิกายต่างๆ
ของพระพุทธศาสนาจึงเกิดขึ้น เพราะการยอมรับสังคายนาต่างกัน
และนิกายต่างกันนั้นก็ยอมรับคัมภีร์และอรรถกถาที่ใช้ตีความคัมภีร์ต่างกัน
อย่างไรก็ตาม
ชาวพุทธแม้จะต่างนิกายกันก็ถือว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน ทำบุญร่วมกันได้
และร่วมมือในกิจการต่างๆ ได้ ผู้ใดนับถือพระพุทธเจ้าและแม้จะนับถือสิ่งอื่นด้วย
เช่น พระพรหม พระอินทร์ ไหว้เจ้า หรือภูตผีต่างๆ ก็ยังถือว่าเป็นชาวพุทธด้วยกัน
มิได้มีความรังเกียจเดียดฉันกันแต่ประการใด ดังนั้น
การที่จะมีบ่อเกิดเพิ่มเติมแตกต่างกันไปบ้าง
ตราบใดที่ยังยอมรับพระไตรปิฎกร่วมกันเป็นส่วนมาก
ก็ไม่ถือว่าต้องแตกแยกกัน
คัมภีร์ของพระพุทธศาสนา
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 3 เดือน
สาวกผู้ได้เคยสดับฟังคำสั่งสอนของพระองค์จำนวน 500 รูป ก็ประชุมทำสังคายนากัน ณ
ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ สอบปากคำกันอยู่ 7 เดือน
จึงตกลงประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก นี่คือบ่อเกิดของคัมภีร์พระไตรปิฎก ต่อมาเมื่อมีปัญหาขัดแย้ง
พระเถระผู้ใหญ่ก็ประชุมขจัดข้อขัดแย้งกัน เป็นสังคายนาต่อมาอีกหลายครั้ง จนได้พระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาทดังที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
ซึ่งถือกันทั่วไปว่าเป็นคำสอนโดยตรงของพระพุทธเจ้าที่นับว่าใกล้เคียงที่สุด
เนื่องจากภาษามคธที่ใช้บันทึกคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น
ครั้นกาลเวลาล่วงไปก็ค่อยๆ กลายเป็นภาษาโบราณ
ยากที่จะเข้าใจได้ทันทีสำหรับนักศึกษารุ่นหลังๆ
จึงได้มีผู้เชี่ยวชาญนิพนธ์ชี้แจงความหมายเรียกว่า อรรถกถา
เมื่อนักศึกษารู้สึกว่าอรรถกถายังไม่ชัดเจนก็มีผู้เชี่ยวชาญนิพนธ์ฎีกาขึ้นชี้แจงความหมาย
และมีอนุฎีกาสำหรับชี้แจงความหมายของฎีกาอีกต่อหนึ่ง
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะปัญหาก็นิพนธ์ชี้แจงเฉพาะปัญหาขึ้นเรียกว่า ปกรณ์ เหล่านี้ถือว่าเป็นคัมภีร์พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
แต่ทว่ามีน้ำหนักน้อยกว่าพระไตรปิฎก เพราะถือว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้ตีความ
นักศึกษาจะเห็นกับบางคัมภีร์ และไม่เห็นด้วยกับบางคัมภีร์ก็ได้
ไม่ถือว่ามีความเป็นพุทธศาสนิกมากน้อยกว่ากันเพราะเรื่องนี้
นิกายมหายาน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา
ถ้าสงฆ์ต้องการก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้" (มหาปรินิพพานสูตร
10/141) ทำให้เกิดมีปัญหาว่า แค่ไหนเรียกว่าเล็กน้อย
เป็นเหตุให้พระภิกษุบางรูปไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับสังคายนามาตั้งแต่ครั้งแรก
และเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับหลายสังคายนา มีกลุ่มที่แยกตัวทำสังคายนาต่างหาก
เป็นการแตกแยกทางลัทธิและนิกาย และไม่ควรถือว่าเป็นการแบ่งแยกศาสนาแต่ประการใด
ไม่อาจกำหนดได้แน่ชัดลงไปว่า
พระพุทธศาสนานิกายมหายานเริ่มถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ที่แน่ชัดก็คือ
พระเจ้ากนิษกะมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์กุษาณะ (ศต.1 แห่งคริสต์ศักราช)
ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกองค์แรกของนิกายมหายาน
ได้ทรงปลูกฝังพระพุทธศาสนามหายานลงมั่นคงในราชอาณาจักรของพระองค์
และทรงส่งธรรมทูตออกเผยแพร่ยังนานาประเทศ
เปรียบได้กับพระเจ้าอโศกของฝ่ายเถรวาท
ฝ่ายมหายานมิได้ปฎิเสธพระไตรปิฎก หากแต่ถือว่ายังไม่พอ
เนื่องจากเกิดมีความสำนึกร่วมขึ้นมาว่า นามและรูปของพระพุทธเจ้าเป็นโลกุตระ
ไม่อาจดับสูญ สิ่งที่ดับสูญไปโดยการเผาเป็นเพียงภาพมายา
พระธรรมกายของพระองค์อันเป็นธาตุพุทธะบริสุทธิ์ยังคงอยู่ต่อไป
มนุษย์ทุกคนมีธาตุพุทธะร่วมกับพระพุทธเจ้า หากมีกิเลสบดบังธาตุพุทธะก็ไม่ปรากฏ
กิเลสเบาบางลงเท่าใดธาตุพุทธะก็จะปรากฏมากขึ้นเท่านั้น
มนุษย์ทุกคนมีสิทธิและมีความสามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า
หากได้ฝึกฝนชำระจิตใจจนบริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยเมตตาบารมี พระโพธิสัตว์จึงมีมากมาย
พระโพธิสัตว์ทุกองค์ย่อมเสริมงานของพระพุทธเจ้า
คำสอนของพระโพธิสัตว์จึงมีน้ำหนักเท่ากับพระไตรปิฎก เมื่อสำนึกเช่นนี้
ฝ่ายมหายานจึงมีคัมภีร์ในระดับเดียวกับพระไตรปิฎกเพิ่มขึ้นอีกมากและอาจจะเพิ่มต่อไปได้อีก
หากยอมรับหรือมีศรัทธาต่อพระโพธิสัตว์ไม่เท่ากัน
ความสำนึกและการแสดงออกก็ย่อมจะผิดเพี้ยนกันออกไปได้ ทำให้มีลัทธิต่างๆ
มากมายในนิกายมหายาน และอาจจะเกิดใหม่ต่อไปได้อีก
แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าเกิดการแตกแยกในศาสนาหรือนิกาย
เพราะทุกลัทธิย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนามหายาน
ด้วยเหตุผลเช่นนี้แหละฝ่ายมหายานจึงภูมิใจว่านิกายของตนใจกว้าง เป็นยานใหญ่
สามารถบรรทุกคนได้มาก
และบันดาลใจให้ผู้มีจิตศรัทธาบำเพ็ญเมตตาบารมีได้อย่างกว้างขวาง
อย่างที่มูลนิธิหัวเฉียวแห่งประเทศไทยพิสูจน์ตัวเองให้เห็นอยู่
การวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนา
ผู้ใดสนใจคงได้ศึกษาตัวอย่างการวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนามาแล้วไม่มากก็น้อย
จนพอจะสังเกตได้ว่า เมื่อกล่าวถึงธรรมะข้อใดในพระพุทธศาสนา ก็มักจะไม่กล่าวลอยๆ
แต่จะต้องมีจำนวนเลขกำกับแสดงการวิเคราะห์หรือการจำแนกธรรมด้วยเสมอ เช่น อริยสัจ 4,
มรรค 8, ศีล 5, ศีล 8, ศีล 10, ศีล 227, มงคล 38, กรรมฐาน 40, เจตสิก 52, จิต 89,
จิต121 เป็นต้น
ให้สังเกตด้วยว่า
การวิเคราะห์ข้อธรรมในพระพุทธศาสนานั้นมิได้วิเคราะห์ชั้นเดียวแล้วจบ
แต่มีการวิเคราะห์ต่อๆ ไปอีกหลายชั้นหลายเชิงเกี่ยวโยงกันทั้งหมด
ไม่ใช่เหมือนสายโซ่ แต่เหมือนอวนผืนใหญ่ที่ตาทุกตาของอวนมีสายโยงถึงกันได้ทั้งหมด
จะขอยกให้ดูเป็นตัวอย่างการศึกษาเท่านั้น เช่น การวิเคราะห์จิต และเจตสิก เป็นต้น
ซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับการมองตน รู้ตน และพัฒนาตน
ผู้ศึกษาจะวิเคราะห์ธรรมะเรื่องใดเพิ่มเติมอีกเท่าใดก็ได้ตามความต้องการ